โอกาสและความท้าทาย

การผลิตไฟฟ้า ต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำโดยเฉพาะในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญและติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดย เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการปล่อยน้ำทิ้งจากการดำเนินงานอย่างปลอดภัยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

แนวทางการบริหารจัดการ

เป้าหมายการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

[GRI 303-1]

เป้าหมายระยะยาว

ลดอัตราการใช้น้ำและเพิ่มสัดส่วนการนำน้ำมารีไซเคิลและใช้ซ้ำ

เป้าหมายปี 2564

ปริมาณการใช้น้ำจืดสุทธิรวมไม่เกิน 5.04 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผลการดำเนินงานปี 2564

ปริมาณการใช้น้ำจืดสุทธิรวม 4.66 ล้านลูกบาศก์เมตร

การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม

[GRI 303-1, 303-2]

เอ็กโก กรุ๊ป บริหารจัดการน้ำภายในองค์กรตามนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยยึดถือแนวทาง 3Rs คือ ลดการใช้น้ำดิบ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำน้ำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดปริมาณการใช้น้ำดิบภายในองค์กร เช่น การนำน้ำทิ้งกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ นำมาฉีดพ่นลดอุณหภูมิของไอเสียหรือนำกลับมาล้างทำความสะอาดถนนและฉีดพรมถนนเพื่อควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่น พร้อมทั้งตรวจติดตามคุณภาพน้ำทิ้งอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำทิ้งขององค์กรมีค่าตามมาตรฐานของพื้นที่นั้น ๆ ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ

เอ็กโก กรุ๊ป ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างสม่ำเสมอ และดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำเพื่อเป็นแนวทางลดผลกระทบและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งสร้างความมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าจะสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำ

  • การประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ

    เอ็กโก กรุ๊ป ทำการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำซึ่งประกอบด้วยความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ประเด็นน้ำแล้ง น้ำขาด คุณภาพน้ำ ความเสี่ยงด้านกฎหมายหรือราคาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าน้ำที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผลการประเมินพบว่าโรงไฟฟ้าในทุกประเทศที่ เอ็กโก กรุ๊ป ประกอบกิจการไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ

    นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังทำการประเมินผลกระทบจากการคาดการณ์ (Scenario analysis) ปริมาณทรัพยากรน้ำที่ลดลงร้อยละ 10, 30 และ 50 ซึ่งประเมินจากโอกาสที่จะเกิดและระดับความรุนแรงของผลกระทบ โดยผลการประเมินพบว่าโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่มีหรือมีความเสี่ยงด้านน้ำต่ำถึงต่ำมาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้ที่เพียงพอและได้จัดทำมาตรการรับมือต่อเหตุการณ์ขาดแคลนน้ำแล้ว

  • การประเมินความเสี่ยงด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ

    เอ็กโก กรุ๊ป จะทำการพิจารณาประเด็นด้านทรัพยากรน้ำก่อนเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้า เก็บข้อมูลพื้นฐาน และดำเนินการติดตามสถานะปริมาณน้ำในพื้นที่เป็นประจำในช่วงเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังประเมินความเสี่ยงด้านน้ำทางกายภาพในพื้นที่รวมถึงปริมาณน้ำ (อาทิ การขาดแคลนน้ำ ความแปรปรวนตามฤดูกาล และความเสี่ยงภัยแล้ง) และคุณภาพน้ำ (อาทิ น้ำเสีย) โดยใช้เครื่องมือ AQUEDUCT Water Risk Atlas เป็นประจำ ซึ่งผลการประเมินคาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของ เอ็กโก กรุ๊ป จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีอ่างเก็บน้ำที่เพียงพอ มีมาตรการรองรับ และไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยแล้ง

  • การประเมินความเสี่ยงด้านกฎหมายซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนค่าน้ำที่เพิ่มขึ้น

    เอ็กโก กรุ๊ป มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและต้นทุนค่าน้ำในพื้นที่ประกอบกิจการอย่างสม่ำเสมอ โดยประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประมาณการการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อต้นทุนค่าน้ำ การบำบัดน้ำเสีย และใบอนุญาตต่าง ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ 2561 โดยใช้เครื่องมือ AQUEDUCT Water Risk Atlas

  • การจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงด้านน้ำต่อผู้มีส่วนได้เสีย

    ไม่เพียงแต่การบริหารจัดการน้ำภายในองค์กรเท่านั้น เอ็กโก กรุ๊ป ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำภายนอกองค์กร โดยดำเนินงานร่วมกับชุมชนข้างเคียงเพื่อสำรวจความพึงพอใจ รับฟังปัญหา ทำความเข้าใจและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในชุมชน ตลอดจนจัดประชุมร่วมกับชุมชนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยมีตัวแทนจากโรงไฟฟ้า หน่วยงานภาครัฐและชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

    เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถลดปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนจากการแย่งน้ำใช้กับภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในบริเวณที่โรงไฟฟ้า เอ็กโก กรุ๊ป ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์สมมติ (Scenario Analysis) เพื่อคาดการณ์ผลกระทบต่อแหล่งน้ำในอนาคต ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงด้านน้ำ และมาตรการป้องกันและรับมือเหตุฉุกเฉินเพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงด้านน้ำในทุกมิติ เช่น ด้านการจ่ายน้ำ การใช้น้ำ และคุณภาพน้ำทิ้ง อีกทั้งมีส่วนร่วมในกิจกรรมบริหารจัดการลุ่มน้ำแบบองค์รวม (Integrated watershed management initiatives) ในบริเวณที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ด้วย เช่น การสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืนผ่านมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เป็นต้น

โครงการที่เกี่ยวข้อง

โครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ดูโครงการ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

นโยบาย ข้อกำหนด และผลการดำเนินงาน

ข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน