[GRI 2-25 (2021)]

เอ็กโก กรุ๊ป กำหนดช่องทางและกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งจัดให้มีกลไกในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และผู้ถูกร้องเรียน ตลอดจนการเก็บข้อมูลการร้องเรียนเป็นความลับ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการพิจารณาบทลงโทษหากผู้ถูกร้องเรียนมีความผิดจริงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ หลักสิทธิมนุษยชน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้ประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้แล้ว เอ็กโก กรุ๊ปยังจัดให้มีแนวทางการเยียวยาตามสมควร โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินการแก้ไขทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยและรูปแบบอื่น ๆ ของการเยียวยาที่จะแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะเป็นในรูปแบบใดก็ได้ที่เหมาะสม เช่น การขอโทษ การคืนสภาพ การฟื้นฟู การชดเชยทางการเงินหรือไม่ใช่ทางการเงิน การลงโทษทางวินัย รวมถึงการป้องกันความเสียหายหรือการรับประกันว่าจะไม่เกิดซ้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถแก้ไขหรือบรรเทาความเป็นไปได้ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง

ในปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ไม่ได้รับข้อร้องเรียนหรือการรายงานในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากกิจกรรมของ เอ็กโก กรุ๊ป และการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริษัทจึงไม่มีการเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิด อย่างไรก็ตาม เอ็กโก กรุ๊ป ตระหนักถึงโอกาสที่การดำเนินธุรกิจอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ดังนั้น บริษัทจึงมีการจัดเตรียมแนวทางและมาตรการในการเยียวยาผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลกระทบและทำให้ผู้เสียหายสามารถกลับสู่สภาวะปกติดังเช่นก่อนเกิดเหตุการณ์การละเมิด

การรับเรื่องร้องเรียน