การประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม
เอ็กโก กรุ๊ป ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นธรรมด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อประเมินทั้งในด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานและความสามารถที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ด้วยวิธีการบริหารตามวัตถุประสงค์ (Management by Objectives) การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360 Degree Feedback) และการสื่อสารแบบคล่องตัว (Agile Conversation) ครอบคลุมทั้งการปฏิบัติงานส่วนบุคคลและการปฏิบัติงานเชิงกลุ่ม เพื่อแสดงถึงข้อมูลเชิงลึกของจุดแข็งและจุดอ่อนของพนักงาน
ผลลัพธ์ที่ได้ยังสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาพนักงานในระดับบุคคล และการบริหารทีม (Team Management) แบบองค์รวม อีกทั้งยังช่วยในการบริหารทักษะ (Skill Management) และการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ภายในองค์กร การประเมินผลการปฏิบัติงานและการทบทวนการพัฒนาสายความก้าวหน้าในงาน (Career Development Review) อย่างสม่ำเสมอยังสามารถเสริมสร้างความพึงพอใจของพนักงาน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น
เพื่อการพัฒนาพน้กงานอย่างสมบูรณ์ เอ็กโก กรุ๊ป จึงดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยนำวิธีการประเมินผลต่าง ๆ มาปรับใช้ร่วมกันเป็นระบบที่มีแบบแผนเพื่อวัดผลการปฏิบัติงาน
การวัดผลลัพธ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) จะถูกนำมาใช้เพื่อวัดผลการปฏิบัติงานตามวิธีการบริหารตามวัตถุประสงค์ (Management by Objectives) การวัดผลลัพธ์การประเมินสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จส่วนบุคคล (Individual KPIs: ร้อยละ 80) ซึ่งมาจากการตกลงร่วมกันระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน โดยพนักงานทุกคนต้องกำหนด KPI ร่วมกันตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม KPI ดังกล่าวสามารถปรับเพิ่มหรือลดในระหว่างปี โดยขึ้นอยู่กับทิศทางของธุรกิจ ซึ่งดัชนีชี้วัดความสำเร็จส่วนบุคคลนี้จะสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดความสำเร็จขององค์กร (Corporate KPI)
ส่วนที่ 2 ได้แก่ ค่านิยมองค์กร (Core Value: ร้อยละ 20) โดยในช่วงสิ้นปี หัวหน้างานจะทำการประเมินการปฏิบัติงานของพนักงานตามหลักการค่านิยมองค์กร โดยการประเมินในส่วนที่ 1 กับ 2 จะถูกแบ่งผลการประเมินออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ค่าเป้าหมายในระดับท้าทาย (Outstanding) ค่าเป้าหมายที่มีความยากปานกลาง (Above Target) ค่าเป้าหมายที่เป็นค่ามาตรฐานโดยทั่วไป (Target) ค่าเป้าหมายในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน (Below Target) ค่าเป้าหมายต่ำสุดที่รับได้ (Threshold) โดยการให้คะแนนนี้จะส่งผลไปถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีด้วย
วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน
หนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานของ เอ็กโก กรุ๊ป คือ การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 โดยพนักงานทุกคนจะได้รับการประเมินโดยผู้จัดการ เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ร่วมกับการประเมินตนเอง ในกรณีที่พนักงานไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชา พนักงานสามารถเลือกเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ประเมินแทนได้
การประเมินศักยภาพการปฏิบัติงานประจำปีได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยในปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ได้นำการรับความคิดเห็นรอบทิศแบบ 360 องศา (360-Degree Feedback) มาใช้ประเมินช่องว่างทางทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของพนักงานในองค์กร โดยการประเมินแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ สมรรถนะหลัก (Core) สมรรถนะความเป็นผู้นำ (Leadership) และสมรรถนะตามสายงาน (Functional) เพื่อนำผลการประเมินมาจัดทำแผนการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Development Roadmap) สำหรับรายบุคคลและรายกลุ่มตามผลการประเมินช่องว่างทางทักษะต่อไป
- พนักงานของ เอ็กโก กรุ๊ป ทุกคน
- รายปี
- เอ็กโก กรุ๊ป เข้าใจถึงช่องว่างทางความสามารถ (Competency Gaps) ของพนักงานทั้งหมด
- เอ็กโก กรุ๊ป สามารถให้ความสำคัญกับช่องว่างทางความสามารถที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับความต้องการทางธุรกิจ เพื่อยกมาเป็นหัวข้อหลักในการพัฒนาการดำเนินงานได้
- เอ็กโก กรุ๊ป สามารถปรับปรุงช่องว่างทางความสามารถที่มีขนาดใหญ่ โดยถือเป็นแผนพัฒนาภายในองค์กร
- พนักงานเข้าใจถึงช่องว่างทางความสามารถของตนเอง ซึ่งจะถูกนำมาพิจารณาร่วมกับหัวหน้างานเพื่อวางแผนพัฒนารายบุคคลต่อไป
หนึ่งในดัชนีชี้วัดความสำเร็จขององค์กร (Corporate KPI) ของ เอ็กโก กรุ๊ป ในปี 2566 คือ การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจใหม่ (Investment on New Business Projects) ดังนั้น เอ็กโก กรุ๊ป จึงได้จัดโครงการประกวดด้านนวัตกรรม EGCO Group INNERGY เพื่อให้พนักงานของ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมกันนำเสนอแผนงานด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ
นอกจากนี้ พนักงานใน เอ็กโก กรุ๊ป ยังมีส่วนร่วมภายในหน่วยงานในการช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ทั้งในสำนักงานใหญ่ และโรงไฟฟ้า โดยในปี 2566 สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด 676 ล้านบาทจากงบงประมาณที่กำหนดไว้ คิดเป็นร้อยละ 22.5 ทั้งนี้ การลดค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสำเร็จขององค์กรที่เชื่อมโยงกับโบนัสประจำปีของพนักงาน (Corporate Bonus-linked KPI)
- พนักงานที่เข้าร่วมโครงการที่เกี่ยวข้อง
- รายปี
- พนักงานเข้าใจถึงวิธีการทำงานในโครงการที่เป็นแบบกลุ่ม
- ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเข้าใจถึงช่องว่างจากการประเมินผลการปฏิบัติงานเชิงกลุ่ม และสามารถระบุจุดสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาได้
เอ็กโก กรุ๊ป ได้นำการสื่อสารแบบคล่องตัว (Agile Conversation) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยวิธีการประเมินนี้เน้นให้เกิดการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอระหว่างพนักงานและผู้จัดการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การเรียนรู้ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยการดำเนินงานของบริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (ESCO) เป็นการดำเนินงานในรูปแบบโครงการเป็นหลัก ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบสถานะของโครงการ ในขณะเดียวกัน ผลการปฏิบัติงานก็จะถูกประเมินผ่านทางบทสนทนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบดัชนีชี้วัดร่วมนี้ไปพร้อมกัน
- พนักงานของบริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (ESCO)
- ประเมินอย่างต่อเนื่อง
- พนักงานทราบถึงสถานะปัจจุบันของงานที่ทำอยู่
- พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างสม่ำเสมอ
- ผู้จัดการโครงการได้รับข้อมูลในปัจจุบันของการดำเนินงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่