ข่าวสาร
เอ็กโก กรุ๊ป เข้าร่วมงานเสวนา “INCLUSIVE LEADERSHIP MEANS BETTER BUSINESS” ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ
21 มกราคม 2565

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 เอ็กโก กรุ๊ปได้เข้าร่วมการจัดงานเสวนา Inclusive Leadership means Better Business จัดโดย WeEmpowerAsia (WEA) Funded by The European Union และ UN Women ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Zoom และ Facebook Live
งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นผู้นำของคนทุกเพศ รวมทั้งเรื่องการรายงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนทุกเพศและการพัฒนานโยบายองค์กรให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อันเป็นแนวทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและธุรกิจไทย
ภายในงานเสวนาฯ ผู้บริหารขององค์กรที่ได้รับรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ได้แก่ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัทหาดทิพย์ ไออาร์พีซี บางจาก และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวทางปฏิบัติการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร
เอ็กโก กรุ๊ป เจ้าของรางวัลชนะเลิศ สาขาความโปร่งใสและการรายงาน (Transparency and Reporting) โดย คุณปิยนนท์ วัฒนะจรรยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมการเสวนาและกล่าวถึงแนวทางในการส่งเสริมความสมดุลทางเพศของชายและหญิง ตลอดจนวิธีการเก็บข้อมูลพื้นฐาน การรายงานข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใส ตลอดจนกิจกรรมและเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกาศเจตนารมณ์และนำเสนอแนวทางที่แต่ละองค์กรปฏิบัติในการลดช่องว่างระหว่างเพศและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ ในภาคธุรกิจไทยได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งธุรกิจที่ปฏิบัติตามแนวทางส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศจะเติบโตมั่นคงในระยะยาว ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“เราเชื่อว่าสิ่งที่จะสามารถทำให้เราเกิดการพัฒนาและทำให้เกิดความเท่าเทียมกันได้จริง คือ การมีข้อมูลฐาน (baseline data) เพื่อประเมิน และตั้งเป้าหมายในเรื่องความเท่าเทียม ในประเด็นของจำนวนพนักงานแต่ละเพศ และค่าตอบแทน เป็นต้น”
