กุมภาพันธ์ 2565

EGCO Ecosystem โครงการคัดแยกขยะในองค์กร 2565

โครงการจัดการขยะภายในองค์กรตั้งแต่ต้นทาง

ปริมาณขยะในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง อีกทั้งปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรั่วไหลของขยะออกสู่ทะเลกลายเป็นขยะทะเล

เอ็กโก กรุ๊ป เล็งเห็นปัญหาการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจึงได้จัดตั้งโครงการจัดการขยะภายในองค์กร หรือ “EGCO Ecosystem” ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง ปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมให้พนักงานรู้จักประเภทขยะและมีพฤติกรรมการคัดแยกขยะตามเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจของ เอ็กโก กรุ๊ป ด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมสร้างระบบนิเวศที่ดี เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

การจัดการขยะภายในองค์กรมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้หลักการประกอบด้วย

  • 3Rs: “Reduce Reuse และ Recycle” ลดการเกิด ขยะหรือของเสีย นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ และนำของเสียไปผ่านกระบวนการหรือแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
  • การส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะอย่างเป็นระบบด้วยการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง และ การกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลด ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ขยายขอบเขตของโครงการจัดการขยะภายในองค์กรสู่ความร่วมมือระดับชุมชนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้โมเดลจัดการขยะใน วงกว้างผ่านการเข้าร่วมโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการคัดแยกขยะสู่ชุมชนวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง โดยเริ่มจากการจัดตั้งถังขยะแยกประเภท 4 แบบ ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล และของเสียอันตราย เพื่อตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในบริเวณวัดซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของชุมชน และจัดการบรรยาย แบ่งปันองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะภายในองค์กร โดยร่วมกับพันธมิตรดิจิตอลแพลตฟอร์ม “เก็บสะอาด” (GEPP Sa-Ard) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางให้แก่พระสงฆ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการขยะของวัด และอุบาสกอุบาสิกาที่มาทำบุญที่ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง โดยมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะในวัดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากความมุ่งมั่นและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของโครงการจัดการขยะภายในองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป ได้รับรางวัล “Asia Responsible Enterprise Awards 2022” สาขา Green Leadership จากสถาบัน Enterprise Asia ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนชั้นนำที่ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และได้รับใบประกาศเกียรติคุณ “Low Carbon Business: Waste Management Award” จากโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรแก่ภาคธุรกิจและชุมชน
  • สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่าง เอ็กโก กรุ๊ป และองค์กรพันธมิตร
  • พัฒนาโมเดลการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
  • ลดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและ ส่งเสริมให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ

แนวทางการดำเนินงาน

  • เน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
  • ยึดหลัก 3R “Reduce Reuse Recycle” หรือ “ลดใช้ นำกลับมา ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล
  • ส่งเสริมให้เกิด การจัดการขยะอย่างเป็นระบบด้วยการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง และการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการดำเนินงานในปี 2565

ปริมาณของเสียอันตรายที่ลดลง ใน

2 กรณี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563-2564 ที่มีการคัดแยกแต่ไม่มีการส่งกำจัด ได้แก่

  • การรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเข้าร่วมโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” กับ AIS โดยเอ็กโก กรุ๊ป รวบรวมและนำส่งเพื่อกำจัดต่ออย่างถูกวิธีร้อยละ 100
  • การรวบรวมขยะกำพร้าและส่งกำจัดได้ร้อยละ 100 ของที่รวบรวมได้

เพิ่มปริมาณการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคัดแยกขยะได้มากกว่าปี 2563-2564 จำนวน 2 ประเภท

โดยในปี 2565 มีปริมาณการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโครงการดังกล่าว จำนวนมากกว่า 9,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โครงการปุ๋ยหมัก จากเศษขยะภายในโรงไฟฟ้าขนอม

จากโครงการส่งเสริมการจัดการขยะภายในองค์กร หรือ “EGCO Ecosystem” ของเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งมุ่งเน้นการจัดการขยะที่ต้นทางและ ส่งเสริมให้พนักงานรู้จักประเภทขยะและมีพฤติกรรมการคัดแยกขยะ ในปี 2565 โรงไฟฟ้าขนอม ได้จัดทำโครงการเปลี่ยนเศษขยะภายในโรงไฟฟ้าเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 โดย มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ เช่น เศษใบไม้และหญ้าจากภายในบริเวณรอบ ๆ โรงไฟฟ้า นำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้เองภายใน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสามารถลดจำนวนการใช้ปุ๋ยเคมีลง และสามารถผลิตปุ๋ยหมักใช้ได้เองกว่า 8,000 กิโลกรัม

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • ลดจำนวนขยะที่ถูกทิ้งลง บ่อขยะ
  • เกิดการใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ภายในโรงงานโดยได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยหมัก
  • ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในบริเวณ โรงไฟฟ้า

แนวทางการดำเนินงาน

  • นำเศษใบไม้ และหญ้า ที่ตัดภายในโรงไฟฟ้ามาผลิตเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้เองภายในโรงไฟฟ้า

ผลการดำเนินงานในปี 2565

ปริมาณปุ๋ยหมักที่ผลิตได้จากขยะอินทรีย์ภายในโรงไฟฟ้า

8,000 กิโลกรัม

โครงการ รีไซเคิลขยะภายในโรงไฟฟ้าเคซอน (QPL) และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา (SBPL)

โรงไฟฟ้าเคซอน (QPL) และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา (SBPL) มีนโยบายในการบริหารจัดการขยะโดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการตั้งแต่แหล่งกำเนิดจนสู่แหล่งกำจัด (Cradle-to-Grave Responsibility) ซึ่งรวมถึงการลดประมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง การคัดแยก การรีไซเคิล และการส่งคืนสู่ผู้รับเหมาเพื่อหลีกเลี่ยงการกำจัดแบบฝังกลบ

โรงไฟฟ้าเคซอน และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะ ได้แก่

  • การรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว สายพานลำเลียงที่ใช้แล้ว เศษโลหะ เป็นต้น
  • การบริจาคเศษไม้พาเลท ไม้ใช้แล้ว กิ่งไม้ เพื่อนำไปใช้เป็นฟืนหรือใช้ผลิตถ่าน
  • การบริจาคเศษอาหารเพื่อนำไปเป็นอาหารแก่สัตว์ และการบริจาคขยะอินทรีย์เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในการทำปุ๋ยหมัก
  • การรีไซเคิลของเสียอันตราย เช่น ซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronic Equipment, WEEE) น้ำมันใช้แล้ว น้ำมันพืชใช้แล้ว กากตะกอนปนเปื้อนน้ำมัน กากไขมัน ภาชนะบรรจุสารเคมีเปล่า

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • ลดจำนวนปริมาณของเสียอันตรายและขยะที่ถูกส่งไปกำจัดโดยการฝังกลบ
  • ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากขยะที่ถูกฝังกลบ

แนวทางการดำเนินงาน

  • นำส่งขยะไปยังแหล่งรีไซเคิลที่เหมาะสมกับประเภทของขยะ

ผลการดำเนินงานในปี 2565

ปริมาณขยะที่ได้รับการรีไซเคิลจากโรงไฟฟ้าเคซอน และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา

654.18 ตัน

ปริมาณของเสียอันตรายที่ได้รับการรีไซเคิลจากโรงไฟฟ้าเคซอน และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา

39.04 ตัน

ปริมาณการปล่อยของก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้

2,038.05 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการรีไซเคิลของเสียอันตรายและขยะในโรงไฟฟ้าเคซอน และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา

โครงการ รีไซเคิลขี้เถ้าลอย (Fly Ash) ภายในโรงไฟฟ้าเคซอน (QPL) และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา (SBPL)

โรงไฟฟ้าเคซอน (QPL) และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา (SBPL) ได้ดำเนินโครงการรีไซเคิลขี้เถ้าลอย (Fly Ash) ที่เกิดขึ้นภายในโรงไฟฟ้าโดยส่งให้บริษัท Pozzolanic Philippines Inc. (PPI) นำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปูนซีเมนต์หรือวัสดุก่อสร้าง โดยในปี 2565 ขี้เถ้าลอยที่เกิดขึ้นภายในโรงไฟฟ้าเคซอนและโรงไฟฟ้าซาน บัวนาเวนทูรา ที่ได้รับการรีไซเคิลมีจำนวน 98.02% และ 98.57% ตามลำดับ

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • ลดปริมาณขี้เถ้าลอยและก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการฝังกลบ

แนวทางการดำเนินงาน

  • รีไซเคิลขี้เถ้าลอยเพื่อเป็นนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปูนซีเมนต์หรือวัสดุก่อสร้าง

ผลการดำเนินงานในปี 2565

ปริมาณขี้เถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าเคซอนและโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ที่ถูกนำไปรีไซเคิล

62,338.87 ตัน

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้จากการรีไซเคิลขี้เถ้าลอยในโรงไฟฟ้าเคซอน และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา

183,276.28 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ดูโครงการทั้งหมด