มีนาคม 2565

โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ปี 2565

นวัตกรรมแบบเปิด

นวัตกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าทางธุรกิจขององค์กร ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสร้างความยั่งยืน นวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์จะช่วยเพิ่มมูลค่าของสิ่งที่องค์กรมีอยู่ นอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้ว นวัตกรรมยังรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ เอ็กโก กรุ๊ป จึงให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อผลักดันให้องค์กรมุ่งสู่ความยั่งยืน และมองหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจในอนาคตสอดรับกับยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดตั้งโครงการประกวดนวัตกรรม “EGCO Group INNERGY พลังนวัตกรรมจากภายในที่ยั่งยืน” เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมที่โดดเด่นและสามารถสร้างคุณค่าให้กับบริษัท รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์ ต่อยอด นวัตกรรมใหม่ ๆ อีกด้วย

รูปที่เกี่ยวข้องกับโครงการนวัตกรรมแบบเปิด ภายใน เอ็กโก กรุ๊ป (1)

รูปที่เกี่ยวข้องกับโครงการนวัตกรรมแบบเปิด ภายใน เอ็กโก กรุ๊ป (2)

การคำนวณประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์ผ่านระบบ Project Management Information System (PMIS)

โดยปกติแล้วการหาประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์จะคำนวณจากระบบโดยรวมของแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมดในโรงไฟฟ้าภายใต้สมมติฐานว่าประสิทธิภาพของแผงทั้งหมดในโรงไฟฟ้าเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงไฟฟ้าดำเนินการเป็นระยะเวลานาน ประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์อาจถดถอย ไม่เท่ากัน จึงเป็นการยากที่จะตรวจสอบหาตำแหน่งของแผงโซล่าเซลล์ที่เสื่อมประสิทธิภาพลง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวหน่วยงานจัดการบริหารโรงไฟฟ้าของเอ็กโก กรุ๊ป จึงได้คิดค้นวิธีการคำนวณประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์แบบใหม่ที่แม่นยำมากขึ้น โดยแบ่งกลุ่มแผงโซล่าเซลล์ด้วยสตริง (String) หรืออินเวอร์เตอร์ (Inverter) และคำนวณประสิทธิภาพแยกกัน ด้วยวิธีนี้จะทำให้การตรวจหาแผงโซล่าเซลล์ที่มีปัญหาทำได้รวดเร็วขึ้น สามารถดำเนินการซ่อมแซม ทำความสะอาด และทดสอบได้โดยง่าย นอกจากนี้การแสดงผลประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์ ยังเชื่อมต่อกับระบบ Project Management Information System (PMIS) ซึ่งสามารถตรวจสอบดูได้ตลอดเวลาอีกด้วย

ปัจจุบันการคำนวณหาประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์ในโรงไฟฟ้าแบบใหม่นี้ได้มีการดำเนินการใน โรงไฟฟ้า SPP 4 ในเครือของ เอ็กโก กรุ๊ป

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • ประสิทธิภาพของ แผงโซล่าเซลล์ใน โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
  • เพิ่มปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์ส่งผลให้โรงไฟฟ้าได้รับรายได้ เพิ่มขึ้น
  • ลดระยะเวลาในการตรวจสอบและบำรุงรักษาแผงโซล่าเซลล์

แนวทางการดำเนินงาน

  • จัดกลุ่มของแผงโซล่าเซลล์โดยแบ่งกลุ่ม แผงโซล่าเซลล์ด้วยสตริง (String) หรือ อินเวอร์เตอร์ (Inverter)
  • เชื่อมต่อการแสดง ผลของอินเวอร์เตอร์ (Inverter) เข้ากับระบบ PMIS เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม

ผลการดำเนินงานในปี 2565

ลดระยะเวลาในการพัฒนาโครงการสู่ตลาดจาก 5 ปี เหลือ 2 ปี

รายได้จากการให้บริการบำรุงรักษาแผงโซลาร์เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบแผงโซลาร์เสื่อมสภาพสูงขึ้นถึง 6 เท่า มูลค่าระหว่าง 1,400,000 ถึง 10,200,2000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนบริการ

เวลาที่จัดสรรสำหรับขั้นตอนการตรวจสอบและบำรุงรักษาลดลงจากการปรับปรุงการวัดผลและการใช้ PMIS เพื่อแสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์

เพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่าง 2.5% ถึง 17.5%

แพลตฟอร์มการจัดการความต้องการไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ทำให้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมการใช้รถยนต์สำหรับรถยนต์นั่งและกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถโดยสารและรถบรรทุก 33,000 คัน ภายในปี 2573 โดยปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าจากรูปแบบการใช้ปกติเนื่องจากความต้องการไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Reliability) และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภคในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load)

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เอ็กโก กรุ๊ป จึงได้พัฒนา แพลตฟอร์มการจัดการความต้องการไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Load Demand Management) หรือ EV-LDM โดยแพลตฟอร์มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยควบคุมช่วงเวลาและปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้รถยนต์ไฟฟ้า ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้และช่วยรักษาเสถียรภาพของความน่าเชื่อถือของระบบโครงข่ายไฟฟ้า ทั้งนี้ตัวอุปกรณ์ประกอบด้วย

  • EV-LDM Platform
  • EV Communication Box
  • Transformer Communication Box
  • Smart EV Charger

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • เพิ่มประสิทธิภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพในระหว่างการจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด
  • สร้างรายได้จากติดตั้งสถานีชาร์จและแพลตฟอร์มการจัดการความต้องการไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
  • เกิดการต่อยอดทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยการบริหารจัดการพลังงานระหว่าง โรงไฟฟ้าและ ผู้บริโภค

แนวทางการดำเนินงาน

  • การติดตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับ EV-LDM เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา ที่คุ้มค่าและสามารถรักษาเสถียรภาพของความน่าเชื่อถือของระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้

ผลการดำเนินงานในปี 2565

กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมถูกย่อจาก 24 เดือนเหลือ 6 เดือน โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรจาก เอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะผู้ผลิตสาธารณูปโภค ซึ่งช่วยเร่งระยะเวลาในการพัฒนาโครงการเข้าสู่ตลาดภายใน 1 ปี

สร้างรายได้ 100 ล้านบาท จากสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและแพลตฟอร์ม EV-LDM

พนักงานได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม EV-LDM ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาระงานที่ได้รับผิดชอบ

ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดลดลง 70 เมกะวัตต์ หรือ 20% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากระยะเวลาและปริมาณการชาร์จที่ควบคุมโดยรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มความน่าเชื่อถือของกริด 50% โดยเฉพาะในช่วงที่มีโหลดสูงสุด

Co-bot Operator ระบบตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์

การดำเนินกิจกรรมภายในโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามกำหนดการ หรือเมื่อเกิดเหตุผิดปกติในระหว่างการดำเนินงาน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานจากอุบัติเหตุ สารเคมี หรือการรั่วไหลของไอน้ำแรงดันสูงในระบบ รวมถึงการตรวจสอบในแต่ละครั้งมีระยะเวลานานและ ใช้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ เอ็กโก กรุ๊ป แก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีช่วยลดความเสี่ยงและเวลาในการตรวจสอบเครื่องจักรระหว่างการดำเนินกิจกรรมภายในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงขึ้น

โดยหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ถูกออกแบบให้มีความสามารถในการวัดอุณหภูมิ ความดัน การสั่นสะเทือน และความดังของเสียง รวมถึงการถ่ายภาพ Thermo-scan ของท่อ อุปกรณ์ และบันทึกเก็บในฐานข้อมูลของระบบ นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์โดยการนำข้อมูลในช่วงการปฏิบัติงานปกติมาเปรียบเทียบ โดยหากค่าที่วัดได้มากกว่าหรือน้อยกว่าจะแสดงการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันให้ผู้ปฏิบัติงานรับทราบ อีกทั้งหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถหลบหลีกและหยุดเมื่อมีสิ่งกีดขวางได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจซื้อขายและเช่าหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ไปยังกลุ่มลูกค้าในภาคส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี และโรงงานอุตสาหกรรรมในพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยให้บริการดูแล ติดตั้งระบบและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริการดูแลซ่อมบำรุงหลังการขาย

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • เกิดการพัฒนา ต่อยอดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
  • ลดความเสี่ยงของ ผู้ปฏิบัติงานในระหว่างการตรวจสอบเครื่องจักรเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ
  • ช่วยลดเวลาในการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรตามกำหนดการ

แนวทางการดำเนินงาน

  • ใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับ ผู้ปฏิบัติงานในการตรวจสอบเครื่องจักรในระหว่างการทำงาน โดยสามารถวัด อุณหภูมิ ความดัน การสั่นสะเทือน และความดังของเสียง รวมถึงการถ่ายภาพ Thermo-scan ของท่อ อุปกรณ์และบันทึกเก็บในฐานข้อมูลของระบบ

ผลการดำเนินงานในปี 2565

รายได้จากโอกาสธุรกิจให้เช่าหรือขาย Co-bot Operator 11,750,000 บาท

ระบบโครงข่ายซื้อขายไฟฟ้าและบริหารจัดการพลังงาน

เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืนและให้สอดรับกับยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน เอ็กโก กรุ๊ป มีโครงการสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านธุรกิจไฟฟ้ามาโดยตลอด

สำหรับระบบโครงข่ายซื้อขายไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading Platform) ได้รับการพัฒนาจาก โรงไฟฟ้าโซลาร์โก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการ ซื้อขายพลังงานหมุนเวียนส่วนเกินที่ผลิตได้ระหว่าง โพรซูเมอร์ (Prosumer) และผู้บริโภคผ่านแอพพลิเคชั่น โดยมี เอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้ให้บริการระบบเครือข่ายซื้อขายไฟฟ้า

ทั้งนี้เทคโนโลยีระบบการซื้อขายไฟฟ้านี้มีจุดเด่น คือ

  • การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในการจัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time)
  • การใช้ Smart contract ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนดไว้ โดยผู้ซื้อและผู้ขายยอมรับในกลไกราคาดังกล่าว
  • การใช้แพลตฟอร์มในการออกบิลและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการซื้อขายพลังงานได้

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  • เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจการ กระจายศูนย์ของธุรกิจพลังงาน (Decentralized Energy) ในอนาคต
  • ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของตลาดพลังงานสะอาดภายในประเทศ

แนวทางการดำเนินงาน

  • ทดสอบการซื้อขายพลังงานส่วนเกิน ระหว่างโพรซูเมอร์ (Prosumer) และผู้บริโภค

ผลการดำเนินงานในปี 2565

การซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ Peer-to-Peer Energy Trading Platform สำหรับ โพรซูเมอร์จำนวนน 100 แห่ง สามารถสร้างมูลค่าทางการขาย (Revenue Generated) โดยประมาณ 102,600,000 บาท

ปี 2564

โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม

Thermal & Visual Drone Inspection

เพื่อลดความเสี่ยง ระยะเวลา และค่าใช่จ่ายให้การตรวจสอบความผิดปกติในงานทางวิศวกรรมที่ต้องให้บุคลากรใช้เครื่องวัดความร้อนส่องทีละจุด ดังนั้น จึงเกิดเป็นนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ที่ให้บริการตรวจสอบโดยสมาร์ทโดรน (Smart Drone) ที่มีคุณสมบัติวัดค่าความร้อนและถ่ายภาพวีดีโอ และจัดทำ Software เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Real time ไปยังผู้ควบคุมโดรน (Drone driver) ห้องควบคุม (Central room) และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์ (Cloud) ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบความผิดปกติของงานทางวิศวกรรม โดรนจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลภาพและตำแหน่งผิดปกติไปยังผู้เกี่ยวข้องทันที รวมทั้งสรุปรายงานผลการตรวจสอบทั้งหมดไว้ด้วย

รูปแบบธุรกิจ และผลลัพธ์: นวัตกรรมการให้บริการตรวจสอบโดยโดรนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในงานทางวิศวกรรม เช่น สายส่งไฟฟ้าแรงสูง แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และเครื่องจักรต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคาดการมูลค่าทางการตลาดถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งการให้บริการโดยโดรนจะส่งผลให้การตรวจสอบนั้นรวดเร็วขึ้นกว่า 10-30 เท่า และมีค่าใช้จ่ายน้อยลง 5-10 เท่าเมื่อเทียบกับการตรวจสอบโดยบุคลากรผ่านการใช้เครื่องวัดความร้อนส่องทีละจุด และยังเป็นการใช้พลังงานสะอาดเนื่องจากโดรนนั้นใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานสะอาดขับเคลื่อน นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดประยุกต์ใช้กับงานตรวจสอบอื่น ๆ เช่น งานรักษาความปลอดภัย งานกู้ภัย งานประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ได้อีกด้วย

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้การตรวจสอบความผิดปกติในงานทางวิศวกรรมนั้นรวดเร็วขึ้น 10 - 30 เท่า และมีค่าใช้จ่ายน้อยลง 5 - 10 เท่าเมื่อเทียบกับการตรวจสอบโดยบุคลากรผ่านการใช้เครื่องวัดความร้อนส่องทีละจุด

การลดต้นทุน/ การสร้างรายได้

1,000 ล้านบาท

EV KLU MINI Bike

เพื่อให้สอดคล้องตามกระแสโลกและความสนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นนวัตกรรมการสร้างและเปิดตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

รูปแบบธุรกิจ และผลลัพธ์: นวัตกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเกิดจากการออกแบบและประกอบโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในโรงไฟฟ้าของ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งผลลัพธ์ของการใช้เครื่องยนต์มอเตอร์ไฟฟ้านั้นคือความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่มีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย 10 เท่าเมื่อเทียบกับมอเตอร์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง และมีค่าบำรุงรักษาต่ำเพราะไม่ต้องเติมน้ำมันเครื่องเหมือนเครื่องยนต์น้ำมันทั่วไป นอกจากนี้ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังสามารถใช้ควบคู่กับแหล่งกำเนิดไฟฟ้าทางเลือกอื่น ๆ ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฟฟ้าพลังงานน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจโดยการจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่สามารถปรับแต่งอุปกรณ์ตามความต้องการของลูกค้าและตามลักษณะการใช้งาน รวมถึงเป็นที่ต้องการในกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ สามารถอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางให้แก่ผู้สูงอายุ และนำไปเป็นรถถ่ายทำภาพยนตร์ในกองถ่าย เป็นต้น

การลดต้นทุน/ การสร้างรายได้

การเทียบค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร

  • มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า = 0.125 บาท/กม.
  • มอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง = 1.1 บาท/กม.

One Stop Service Energy Platform

เพื่อตอบสนองต่อแหล่งพลังงานและเทคโนโลยีที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมพลังงานในอนาคตที่อาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองในรูปแบบ Peer to Peer เลยทำให้โอกาสในตลาดเปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต้องการส่วนแบ่งทางการตลาด จึงเกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่จะสร้าง Business Platform ด้านพลังงานในรูปแบบ One Stop Service ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ครบวงจรที่สุด

รูปแบบธุรกิจ และผลลัพธ์: การสร้าง Business Platform ครั้งนี้คือการสร้างรูปแบบธุรกิจที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าหรือให้บริการด้านการไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งรายย่อยและโรงไฟฟ้า เข้ากับประชาชน อาคารสำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้า โดยในทุกการซื้อขาย เอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะคนกลางจะเก็บรายได้จากร้านค้าและค่าคอมมิชชั่นสำหรับทุกการแลกเปลี่ยนพลังงาน ซึ่งสามารถลดต้นทุน/สร้างรายได้ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้จากแนวคิด Market Place และ Energy Trading แบบ Peer to Peer ยังได้รับผลประโยชน์มากมาย เช่น สร้าง Prosumer หรือผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop เข้าระบบให้มากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รับประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และสอดคล้องกับนโยบายของ เอ็กโก กรุ๊ป ที่ต้องการลด การปล่อยก๊าซคาร์บอน ภายในปี 2593

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

ลด Net Plant Heat Rate ได้ 230 BTU/kWh

การลดต้นทุน/ การสร้างรายได้

30 ล้านบาท/ปี

กำไรจากการดำเนินธุรกิจ

การใช้เชื้อเพลิง Gas คิดจาก Net plant heat rate 3,670,800 บาท; การขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 70% ของสัญญา 24,587,625 บาท; การขายไฟฟ้าของ Prosumer แบบ Peer to Peer 3,000,000 บาท

Khanom Solar Floating

เนื่องจากอ่างเก็บน้ำดิบ (อ่างเก็บน้ำบ้านกลาง) ของโรงไฟฟ้าขนอมอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล (ประมาณ 9 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า) เลยอาจเกิดปัญหาไม่มีไฟฟ้าในบางช่วงสำหรับเปิดประตูระบายน้ำได้ทันส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่รอบอ่างและในชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งในช่วงหน้าร้อนจะเกิดการสูญเสียน้ำอย่างเปล่าประโยชน์ที่ระเหยจากอ่างไปเป็นจำนวนมาก ประมาณ 1 เซนติเมตรต่อวัน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากการนำพื้นที่ผิวน้ำของอ่างเก็บน้ำมาติดตั้ง Solar Floating เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเดินปั๊มสูบน้ำ เปิดปิดประตูน้ำในคลองกรณีฉุกเฉินในช่วงหน้าฝน และลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ของชาวบ้าน

ผลที่ได้รับ: สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้กับปั๊มสูบน้ำผิวดินจากคลองสาธารณะเพื่อส่งไปยังอ่างเก็บน้ำในโรงไฟฟ้าสำหรับผลิตเป็นน้ำอุปโภค-บริโภคและน้ำบริสุทธิ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งนวัตกรรม Solar Floating คือการผลิตพลังงานสะอาดที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับการผลิตโดยใช้พลังงานสิ้นเปลือง (Non-renewable Energy) รวมถึงสอดคล้องกับแผนการลงทุนของ เอ็กโก กรุ๊ป โดยธุรกิจนี้สามารถนำไปลงทุนในต่างประเทศกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเครือ และยังตอบสนองเป็นโครงการลดการปล่อย CO2 ของบริษัท นอกจากนี้ จากโมเดลของ Khanom Solar Floating ได้มีการพัฒนาต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่เพื่อติดตั้ง Solar Floating บนอ่างเก็บน้ำของบริษัทภายนอก โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ อ่างเก็บน้ำในโรงงานและทางเกษตร เป็นต้น

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

ลดการใช้เชื้อเพลิงก๊าซได้ 22,663 MMBTU; ลด Gross heat rate 2.14 KJ/kWh; Increase Heat Margin 0.031%

การลดต้นทุน/ การสร้างรายได้

ค่าก๊าซลดลง คิดเป็นเงิน 4,533,600 บาทต่อปี

Internal Optimization: Modify Common Line of Auxiliary Steam

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าประเภท Single Shaft Combined Cycle ที่เป็นแบบ Standby Condenser มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง Vacuum ใน Condenser ก่อนทุกครั้งที่จะ Start-up โรงไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้ Auxiliary Boiler ผลิต Auxiliary Steam เป็น Seal ที่บริเวณ Steam Turbine Gland เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศไหลเข้าไปใน Steam Turbine และ Condenser ได้ ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดใช้เวลานานถึง 3.5-4 ชั่วโมง จึงเกิดแนวทางติดตั้ง Common Line โดยนำ Steam ที่ Tap มาจาก HRSG Cold Reheat Steam (CRH Steam) ของโรงไฟฟ้าที่กำลังเดินเครื่องอยู่มาใช้แทน Auxiliary Steam

ผลที่ได้รับ: การติดตั้ง Common Line โดยใช้ CRH Steam สามารถลดระยะเวลาในการผลิต Auxiliary Steam จาก Auxiliary Boiler ซึ่งทำให้การ Start-up โรงไฟฟ้ารวมถึงการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้เร็วขึ้นจึงส่งผลให้สามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้ 2.40 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเชื้อเพลิง ค่าสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต Auxiliary Steam จาก Auxiliary Boiler ค่าการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบ ค่าจ้างบุคลากรของทั้งหน่วยงานเดินเครื่องและซ่อมบำรุง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.00 ล้านบาท รวมไปถึงช่วยลดมลพิษไอเสียที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศอีกด้วย

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

ลดระยะเวลาเพื่อเตรียม Steam ในการพร้อมใช้งานจาก 3.5-4 ชั่วโมงเหลือ 15 นาที

การลดต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลและอื่นๆ

1.00 ล้านบาท

การสร้างรายได้ในการขายไฟฟ้าได้เร็วขึ้น

2.40 ล้านบาท

ผลประโยชน์อื่น ๆ จากการลดความเสี่ยงบทปรับจากสัญญา PPA สูงสุดครั้งละ

8.95 ล้านบาท

KitchenDe

การสร้าง platform “คิทเช่นดี” ผ่านช่องทาง Line Official Account @KitchenDe และแอปพลิเคชัน KitchenDe เพื่อเป็นหนึ่งทางเลือกในการจ่ายตลาดในปัจจุบันที่ประหยัดเวลา เพิ่มโอกาสในการกระจายผลผลิต ผ่านการให้บริการช่วยซื้อของสด โดยมีเจ๊ใหญ่ เป็นตัวกลางระหว่างลูกค้า อาทิ ผู้ประกอบการร้านอาหาร และตลาดสด ในการบริหารจัดการออเดอร์ และจ่ายตลาด โดยจุดเด่นของ KitchenDe คือ การรักษาคุณภาพของออเดอร์ คัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพ และจัดส่งวัตถุดิบถึงมือลูกค้า

ผลที่ได้รับ: การใช้ platform นี้สามารถประหยัดเวลา และการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยผลที่ได้รับ

KitchenDe

จะได้รับรายได้จากค่าบริการเริ่มต้น (คำสั่งซื้อละ 50 บาท) ค่าบริการส่วนเพิ่มจากผู้ประกอบการร้านอาหารในการซื้อวัตถุดิบ (5% จากราคาวัตถุดิบ) ส่วนเพิ่มจากค่าส่งในระยะทางที่เพิ่มขึ้น (ฟรีระยะทาง 5 กิโลเมตรแรก และกิโลเมตรถัดไป 10 บาท) และส่วนเพิ่มจากลูกค้าที่สั่งสินค้าในปริมาณมาก (ขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้า)

เจ๊ใหญ่

ตัวแทนผู้จ่ายตลาดให้กับลูกค้า จะมีรายได้จาก 55% ของค่าบริการเริ่มต้น

โครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ดูโครงการทั้งหมด